ภาวะมีบุตรยากคืออะไร

กระบวนการที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น อาศัยหลักการพื้นฐานคือทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นระหว่างเซลล์ไข่และตัวอสุจิ การรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติจึงน่าจะช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น

ภาวะมีบุตรยาก

หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้เองหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พบได้ประมาณ 15% หรือราวๆ 1 ใน 6 ของคู่สมรสโดยทั่วไป

การตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ อาศัยอะไรบ้าง

ปัจจัยทางฝ่ายชาย จะเน้นความสำคัญที่เซลล์สืบพันธุ์ฝ่ายชาย ซึ่งก็คือตัวอสุจินั่นเอง ในการมีเพศสัมพันธ์นั้น จะมีการหลั่งน้ำอสุจิออกมา ซึ่งประกอบด้วย ตัวอสุจิจำนวนหลายสิบล้านตัวว่ายไปมาอยู่ในของเหลวที่มีผลต่อการอยู่รอดของตัวอสุจิ ดังนั้นปัจจัยทางฝ่ายชายที่สำคัญนั่น คือต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิได้ตามปกติ จำนวนและการเคลื่อนไหวของตัวเชื้ออสุจิที่ปกติ
ปัจจัยทางฝ่ายหญิง จะมีส่วนสำคัญทั้งเซลล์สืบพันธุ์หรือเซลล์ไข่ และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่เกิดการปฏิสนธิและเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน ระบบฮอร์โมนและรังไข่ จะมีการพัฒนาเซลล์ไข่จนพร้อมปฏิสนธิใน ช่วงประมาณกลางรอบเดือนเพียง 1 ใบ เท่านั้น เมื่อไข่ตกลงมาจะถูกปลายท่อนำไข่พัดโบกเข้ามาสู่ท่อนำไข่เพื่อมาปฏิสนธิกับอสุจิที่ต้องว่ายมาจากบริเวณช่องคลอด ผ่านส่วนของปากมดลูกและโพรงมดลูกก่อน เมื่อมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ตัวอ่อนก็จะค่อยๆพัฒนา แบ่งเซลล์และกลับเข้าฝังตัวในโพรงมดลูกต่อไป ซึ่งตรงจุดนี้ความสำคัญก็จะอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก หากการฝังตัวเกิดขึ้นสมบูรณ์การตั้งครรภ์ก็จะดำเนินต่อไป